"ไอดีซี" ประเมินตลาดแทบเล็ตไทยโต แต่ยัง "เล็ก" เหตุพฤติกรรมยูสเซอร์ยังต้องการพีซี ฟันธง 2 ปีแพร่หลาย บีบ "ค่ายซีพียู" ต้องปรับตัว
ล่าสุด "เอเอ็มดี" เปิดศึกซีพียูสายพันธุ์ใหม่ "ฟิวชั่น เอพียู" ชนคู่แข่ง หวังเปลี่ยนเกมแข่งขันในตลาด
นายไบรอัน มา ผู้ช่วยรองประธานบริหารอุปกรณ์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง กลุ่มปฏิบัติการและวิจัยโดเมน ไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า กระแสการเติบโตของแทบเล็ต และสมาร์ทโฟนภาพรวมปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก รวมทั้งไทย แต่ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวในกลุ่มประเทศที่อิ่มตัวแล้ว เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนใหญ่ยังมีสัดส่วนยอดขายในตลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผลสำรวจล่าสุดยังพบว่า ปีที่ผ่านมา ยอดขายพีซีในเอเชีย-แปซิฟิกยังครองสัดส่วนอันดับ 1 หรือ 82% ของยอดขายทั้งหมด 54 ล้านเครื่อง จำนวนนี้เป็นยอดขายจากกลุ่มแทบเล็ต-เน็ตบุ๊ค 18% แบ่งเป็น "เน็ตบุ๊ค" 13% และ "มีเดีย แทบเล็ต" 5%
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าภายในปี 2557 สัดส่วนยอดขายโน้ตบุ๊คจะลดเหลือ 80% แต่ยอดขายแทบเล็ต-เน็ตบุ๊คจะเพิ่มขึ้น แยกเป็น "เน็ตบุ๊ค" ลดเหลือ 4% และ "มีเดีย แทบเล็ต" 16% ซึ่งคาดว่าแทบเล็ตอาจต้องใช้เวลาราว 2 ปีจึงจะเริ่มเป็นเมนสตรีมได้ในตลาดโลก รวมถึง "ไทย" จะเริ่มมีผู้ผลิตแทบเล็ตรายอื่นๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้นนอกจากแอ๊ปเปิ้ล
"ตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นโน้ตบุ๊ค เพราะยูสเซอร์ยังต้องการใช้คีย์บอร์ด และจอใหญ่ๆ ทำงาน เช่น การใช้อีเมล หรือใช้ฟังก์ชันมัลติมีเดียบางอย่าง ซึ่งแทบเล็ตยังทำไม่ได้ ส่วนแนวโน้มของตลาดเน็ตบุ๊คจะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะคนจะเริ่มหันไปหาอุปกรณ์ที่เหมาะกับการทำงานมากขึ้น" นายมากล่าว
พร้อมกับเชื่อว่า แนวโน้มของผู้ผลิตซีพียูในกลุ่มพีซีจะเริ่มปรับตัว เพื่อรับมือกับกระแสแทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ซึ่งใช้เทคโนโลยีการประมวลผลต่างจากที่ใช้ในพีซี
เขาระบุว่า ทั้งเอเอ็มดี และอินเทลกำลังพยายามต่อยอดการพัฒนาสถาปัตยกรรมเอ็กซ์ 86 ซึ่งเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการประมวลผลฝั่งพีซี เพื่อให้สามารถใช้พลังงานต่ำลง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับการผลิตหน่วยประมวลผลสำหรับอุปกรณ์ใหม่ๆ
ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตหน่วยประมวลผลที่เคยอยู่ในตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่เดิม เช่น เออาร์เอ็ม (ARM) และควอลคอมม์ ก็กำลังพยายามทำให้ซีพียูของตัวเองประมวลผลได้ดีขึ้น แม้ว่าเดิมจะมีจุดเด่นของซีพียูที่ใช้พลังงานต่ำ แต่การประมวลผลก็ยังต่ำลงไปด้วย
"อีก 2 ปีน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของตลาด ซึ่งก็จริงที่ว่าทั้งเอเอ็มดี และอินเทลยากที่จะเข้ามาเป็นผู้นำตลาดในช่วงที่กระแสแทบเล็ตแรงๆ แต่ก็จะเริ่มเห็นการปรับตัวของผู้นำตลาดทั้ง 2 ค่ายนี้มากขึ้นเช่นกัน โดยล่าสุด ก็มีเอเซอร์ที่เริ่มทดลองใช้แพลตฟอร์มใหม่ของเอเอ็มดีในการทำแทบเล็ต" นายมากล่าว
นายเบน วิลเลียมส์ รองประธานองค์กร และผู้จัดการทั่วไป เอเอ็มดี เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ล่าสุดเอเอ็มดีได้เปิดตัว "ฟิวชั่น เอพียู" แพลตฟอร์มประมวลผลใหม่ที่รวมซีพียูและชิพกราฟฟิกไว้ด้วยกันบนเทคโนโลยีประมวลผลแบบมัลติ-คอร์ และไดเรคเอ็กซ์ 11 โดยมี 3 ซีรีส์หลัก คือ เอ, อี และซี ซีรีส์ เจาะตลาดเมน สตรีม พีซี, เกมมิ่ง และเอชดี เน็ตบุ๊ค ตามลำดับ
แพลตฟอร์มดังกล่าวจะรองรับพฤติกรรมการใช้งานพีซียุคใหม่ โดยเล่นไฟล์วีดิโอความละเอียดสูงได้ดีขึ้น แสดงผลกราฟฟิกสมจริง และอายุการใช้งานแบตเตอรี่ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
"ปัจจุบันมีดีไซน์ วิน ที่กำลังจะออกเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว 35 ระบบ ซึ่งจุดเด่น คือ กินไฟต่ำสุดแค่ 9 วัตต์ โดยคาดว่าปีนี้ จะมีสินค้าออกมาครบทุกซีรีส์"
พร้อมกับคาดว่าแพลตฟอร์มใหม่จะกระตุ้นการเติบโตให้กับเอเอ็มดีอย่างมาก และมีส่วนแบ่งตลาดดีขึ้น จากไตรมาสล่าสุด เอเอ็มดีมีส่วนแบ่งตลาดพีซีไทย 13%